#เกี่ยวกับDhl

แนวโน้มเทรนด์อีคอมเมิร์ซสำหรับธุรกิจ B2B ท่ามกลางกระแสโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

2 Mins Read
facebook sharing button
twitter sharing button
linkedin sharing button
Smart Share Buttons Icon Share
แนวโน้มเทรนด์อีคอมเมิร์ซสำหรับธุรกิจ B2B ท่ามกลางกระแสโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

ในยุคที่มีการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจ B2B ได้ยืนอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากดิจิทัลดิสรัปชั่น พฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไป การปรับแต่งแบบ personalization รวมถึงพลังของคนรุ่นใหม่ (Gen M) ทำให้การมองเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเชิงกลยุทธ์จำเป็นสำหรับธุรกิจ B2B ซึ่งไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่เพื่อความสำเร็จของธุรกิจด้วย

บทความนี้เจาะลึกแนวโน้มของอีคอมเมิร์ซ B2B โดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจก้าวทันเทรนด์และความเปลี่ยนแปลง ฟันฝ่าวิกฤต และยกระดับสู่การเป็นผู้นำยุคอีคอมเมิร์ซ B2B โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงาน ‘The Ultimate Guide On B2B E-Commerce Trends in APAC’ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส รวบรวมเทรนด์ที่น่าสนใจดังนี้:

ยอดขายอีคอมเมิร์ซ B2B ล็อตใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ องค์กรธุรกิจต่างๆ ลังเลที่จะลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากลูกค้าไม่สะดวกที่จะซื้อสินค้าล็อตใหญ่ผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ การจัดซื้อในรูปแบบดิจิทัลมักเป็นแบบ B2C มากกว่า B2B แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดขึ้นเมื่อมีการชำระเงินแบบเข้ารหัส (encrypted payment) ทำให้การทำธุรกรรมโดยรวมมีความสะดวกมากขึ้น องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการชำระเงินออนไลน์อีกต่อไป โดย 35% ระบุว่าพวกเขายินดีใช้จ่ายเงิน 500,000 ดอลลาร์ขึ้นไปสำหรับการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งผ่านช่องทางดิจิทัล และ 15% ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรรู้สึกสบายใจที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ผ่านทางออนไลน์[1] อีคอมเมิร์ซจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการซื้อขายสินค้าล็อตใหญ่

การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเร่งให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะการแพร่ระบาด ส่งผลให้ธุรกรรมออนไลน์ขนาดใหญ่กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยระบบการชำระเงินแบบเข้ารหัสและความแพร่หลายของธุรกรรมออนไลน์ของธุรกิจ B2B องค์กรจึงรู้สึกมั่นใจในการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย มีการปรับตัวให้เข้ากับวิวัฒนาการทางดิจิทัลของเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยในปี 2560 รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบ ‘พร้อมเพย์’ ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการริเริ่มใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลระดับประเทศอย่างกว้างขวาง โดยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงวิธีการชำระเงินที่ครอบคลุมทุกธนาคารและเข้าถึงได้สะดวก ระบบนี้ช่วยให้ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจในไทยมีส่วนร่วมในธุรกรรมอีคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวแสดงให้เห็นได้จากขนาดการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ B2B ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่า 0.84 ล้านล้านบาทในปี 2563[2] และคิดเป็น 27% ของธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั้งหมดในปี 2565[3]

ประสบการณ์แบบ Personalization จะเพิ่มมากขึ้นเพราะคนรุ่นมิลเลนเนียล

ทุกวันนี้ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดย 73% ของกลุ่มมิลเลนเนียลหรือ Gen M มีหน้าที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าของบริษัท และ 34% เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ[1] ด้วยเหตุนี้ การปรับแต่งแบบ Personalization จึงเพิ่มมากขึ้นในธุรกรรมและการดำเนินงานของธุรกิจ B2B ซึ่งอาศัยประสบการณ์จากการทำธุรกรรม B2C สมัยใหม่ เนื่องจากคนรุ่นมิลเลนเนียลคุ้นเคยกับการมีส่วนร่วมของลูกค้าแบบ B2C พวกเขาจึงใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการทำธุรกิจ B2B

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกับประสบการณ์ของผู้ซื้อที่ต้องเป็นส่วนตัว เป็นมิตร และกระตุ้นให้เกิดความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น ธุรกรรมอีคอมเมิร์ซ B2B ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มุ่งเน้นความได้เปรียบด้านราคาแต่ตอนนี้มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เหมาะกับความต้องการเชิงกลยุทธ์มากขึ้น

โซลูชั่นดิจิทัลแบบบริการตนเอง (Self-serve digital solutions) จะแพร่หลายมากขึ้น

องค์กรธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวเลือกในการบริการตนเองสำหรับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น การแพร่ระบาดทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้แนวทางแบบ ‘hands-off’ มากขึ้น โดยจำกัดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการและการจัดการสินค้า การบริการตนเองช่วยสร้างโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจในการลดต้นทุนการขาย โดยไม่กระทบต่อการบริการลูกค้าและประสบการณ์ความสัมพันธ์แบบ B2B

ด้วยการเปลี่ยนแคตตาล็อก รายการราคาสินค้า เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้เป็นรูปแบบดิจิทัล และเปิดให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว องค์กรธุรกิจต่างๆ จะสามารถลดภาระงานด้านธุรการ และมอบประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า จากการสำรวจของ CRM Magazine พบว่าโซลูชั่นแบบ self-serve มีความสำคัญมากขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าองค์กรธุรกิจของตนใช้ช่องทางการบริการตนเองในระบบ CRM และคาดว่าแนวทางนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น[1]

การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชนมีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ผลจากการแพร่ระบาดทำให้ธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงได้ และต้องพึ่งพาช่องทางอีคอมเมิร์ซในการทำธุรกรรม  ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อจำกัดที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้องค์กรธุรกิจจำนวนมากในภาค B2B เริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทานและระบบการจัดการโลจิสติกส์ของตน ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

B2B International ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Merkel แนะนำให้องค์กรต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การทำแผนผังเครือข่ายซัพพลายเชน โดยให้ความเห็นว่า “การรู้ว่าซัพพลายเออร์ ไซต์งาน ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่มีความเสี่ยงในช่วงวิกฤต จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงสินค้าคงคลังและกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดในไซต์อื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน”[2] การแพร่ระบาดได้แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายซัพพลายเชนที่หลากหลายจะช่วยยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถลดความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักของซัพพลายเชนและโลจิสติกส์

มุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น

ลูกค้าในวันนีั้ให้ความสำคัญกับการซื้อขายอย่างมีจริยธรรมมากกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ลูกค้าในกลุ่ม B2B และ B2C จะยังคงเลือกใช้จ่ายเงินสำหรับทางเลือกที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกที่ชาญฉลาดและมีจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย  จากการศึกษาพบว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ระบุว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ และลูกค้ายินดีที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน[3] ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทอีคอมเมิร์ซ B2B สามารถขยายช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้และความร่วมมือ ด้วยการปรับใช้นโยบายที่ดึงดูดฐานลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เฮอร์เบิร์ต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า “อีคอมเมิร์ซ B2B มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นกำลังสำคัญในระบบการค้าโลก โดยมีบทบาทในการรักษาความยั่งยืนของซัพพลายเชน การลงทุนอย่างต่อเนื่องของเราในด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ความยั่งยืน และโครงสร้างพื้นฐาน ตอกย้ำถึงความพร้อมและความมุ่งมั่นของเราในการช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับประสบการณ์อีคอมเมิร์ซที่ดีขึ้น ได้มีโอกาสใหม่ๆ พร้อมทั้งก้าวไปสู่ตลาดโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

รายงานฉบับเต็มของ “The Ultimate Guide on B2B E-Commerce Trends in APAC” สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

[1] Bangia, M., et al. (2022). Busting the Five Biggest B2B E-Commerce Myths ดึงข้อมูลมาจาก https://www.mckinsey.com/business-functions/marketing-and-sales/our-insights/busting-the-five-biggest-b2b-e-commerce-myths

[2] Bangkok Post (2021). Value of e-commerce forecast to hit B4tn. ดึงข้อมูลมาจาก https://www.bangkokpost.com/business/2197979/value-of-e-commerce-forecast-to-hit-b4tn  

[3] International Trade Administration. (2022) ดึงข้อมูลมาจาก: https://www.trade.gov/country-commercial-guides/thailand-ecommerce

[4] Sitecore (2023) – Improve the B2B commerce experience through AI

[5] Destination CRM (2013). New Survey Highlights the Growth of Web Self-Service ดึงข้อมูลมาจาก https://www.destinationcrm.com/Articles/CRM-News/Daily-News/New-Survey-Highlights-the-Growth-of-Web-Self-Service-90678.aspx

[6] Tuinstra, M. (2020). The Impact of COVID-19 on Supply Chains ดึงข้อมูลมาจาก https://www.b2binternational.com/2020/04/27/the-impact-of-covid-19-on-supply-chains/

[7] CGS (2019). CGS Survey Reveals ‘Sustainability’ Is Driving Demand and Customer Loyalty ดึงข้อมูลมาจาก https://www.cgsinc.com/en/infographics/CGS-Survey-Reveals-Sustainability-Is-Driving-Demand-and-Customer-Loyalty