#เกี่ยวกับDhl

ผลสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดย DHL ชี้โลกาภิวัตน์ยังคงฟื้นตัวแม้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงทวีความรุนแรง

facebook sharing button
twitter sharing button
linkedin sharing button
Smart Share Buttons Icon Share
ผลสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดย DHL ชี้โลกาภิวัตน์ยังคงฟื้นตัวแม้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงทวีความรุนแรง

ผลสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดย DHL ชี้โลกาภิวัตน์ยังคงฟื้นตัวแม้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงทวีความรุนแรง

·       การไหลเวียนของการค้าระหว่างประเทศ เงินทุน และข่าวสารฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งและเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนการไหลเวียนของผู้คนกำลังทยอยฟื้นตัว

·       การไหลเวียนของการค้าระหว่างประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับโลกกลับสู่ระดับภูมิภาค

·       ไม่มีข้อมูลบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงความกระจายตัวของเศรษฐกิจโลก

·       กระแสการไหลเวียนต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับจีนลดลงถึง 8 ใน 11 ส่วนจากข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ประกอบด้วยการนำเข้าและส่งออกสินค้า รวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายในส่วนดังกล่าว

·       เนเธอร์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศมากที่สุด ตามมาด้วยสิงคโปร์และเบลเยียม

เมื่อเร็วๆ นี้ DHL และ NYU Stern School of Business ได้เผยผลการสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ หรือ DHL Global connectedness Index ประจำปี 2022 ซึ่งเป็นรายงานที่ประกอบไปด้วยข้อมูลเชิงลึกในประเด็นเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และการคาดการณ์ถึงความน่าจะเป็นต่างๆ ในอนาคต จากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 171 ประเทศและดินแดนต่างๆ เพื่อติดตามการไหลของกระแสการค้าระหว่างประเทศ เงินทุน ข่าวสาร และผู้คนทั่วโลก

ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ากระแสต่างๆ ที่ไหลเวียนระหว่างประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างน่าจับตามองจากวิกฤตที่ผ่านมาอย่างการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสงครามในยูเครน หลังจากที่ลดต่ำลงเล็กน้อยในปี 2020 ดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของดีเอชแอลฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดแล้วในปี 2021 และยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกในปี 2022 แม้จะมีกระแสการไหลเวียนบางส่วนที่มีแนวโน้มจะชะลอการเติบโตลงก็ตาม การค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เป็นการซื้อขายสินค้าเติบโตขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดถึง 10% ในช่วงกลางปี 2022 ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดในช่วงปี 2019 อยู่ 37% ในปี 2022 แต่ก็มีการเติบโตสูงขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2021

“ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้ลบล้างแนวความคิดที่ว่าโลกาภิวัตน์กำลังจะพังทลายลงโดยสิ้นเชิง” จอห์น เพียร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส กล่าวแสดงข้อคิดเห็น “โลกาภิวัตน์ไม่ใช่แค่คำศัพท์ที่เป็นเทรนด์ในช่วงเวลาหนึ่ง มันคือพลังอันแข็งแกร่งซึ่งได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้น โดยการทลายกำแพงและเปิดโอกาสทางการค้าสู่ตลาดที่กว้างยิ่งขึ้น ทำให้บุคคล ธุรกิจ และประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสเติบโตและก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากเราสนับสนุนโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถสร้างโลกที่เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น ความมั่งคั่ง สันติ และอนาคตที่สดใสสำหรับทุกคนได้”

สหรัฐและจีน : ความสัมพันธ์ที่พังทลายของสองคู่แข่งทางภูมิรัฐศาสตร์

ดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของดีเอชแอลชี้ให้เห็นว่าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังเกิดความแตกแยกในหลายด้าน จากข้อมูลกระแสการค้าระหว่างประเทศ เงินทุน ข่าวสาร และผู้คน 11 รายการ เช่น การส่งออกสินค้า การควบรวมกิจการ และความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่ากระแสไหลเวียนต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับจีนลดลงถึง 8 จาก 11 รายการตั้งแต่ปี 2016 และในขณะเดียวกัน กระแสไหลเวียนต่างๆ ของจีนที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐก็ลดลงถึง 7 ใน 10 รายการ อ้างอิงจากข้อมูลของจีนที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และจีนก็ยังคงมีการเชื่อมต่อกันผ่านกระแสที่ยิ่งใหญ่มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเขตแดนเชื่อมต่อกัน นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าความแตกแยกระหว่างสองประเทศนี้ยังไม่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกเป็นวงกว้างในระดับนานาชาติจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการหวนคืนสู่การค้าระดับภูมิภาค – ระยะทางของการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

ผลการวิเคราะห์ในรายงานดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของดีเอชแอลยังเผยว่าแนวคิดที่คาดการณ์ถึงการพังทลายของโลกาภิวัตน์และการหวนคืนสู่การค้าในระดับภูมิภาคนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด และระยะทางโดยเฉลี่ยของการไหลเวียนของกระแสการค้าระหว่างประเทศ เงินทุน ข่าวสาร และผู้คนยังคงเพิ่มขึ้นในระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้กระแสการค้าระหว่างประเทศยังขยายตัวเป็นระยะทางที่ยาวไกลขึ้นในระหว่างวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย มีเพียงกระแสการไหลเวียนของผู้คนเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงกลับมาสู่ระดับภูมิภาคอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรูปแบบการเดินทางในช่วงการระบาดที่ผ่านมา

“นี่ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่าเทรนด์การค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงกลับสู่ระดับภูมิภาคหรือไม่ในอนาคต” สตีเวน อัลต์แมน นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการของ DHL Initiative on Globalization ที่ NYU Stern’s Center for the Future of Management กล่าว “หลายบริษัทและภาครัฐกำลังมุ่งเน้นไปที่การย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ประเทศของตน เพื่อให้โซ่อุปทานกลับมาสู่ขอบเขตของภูมิภาค และยังมีประโยชน์มากมายต่อธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหากกลับมาดำเนินการภายในภูมิภาค ในทางกลับกัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นคือการค้าในระดับภูมิภาค และการค้าในระยะทางไกลก็ยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงพุ่งขึ้นสูง เศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว และค่าขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ที่ได้ปรับตัวลดต่ำลงมาแล้ว”

เนเธอร์แลนด์คือประเทศที่มีระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก

เนเธอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลกอีกครั้ง จากรายงานผลสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของดีเอชแอล ประจำปี 2022 ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่เป็นอันดับที่ 2 และอันดับแรกเมื่อวัดเฉพาะกระแสการไหลเวียนต่างๆ ในระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศ ส่วนสหราชอาณาจักรมีการไหลออกของกระแสต่างๆ สู่ระดับโลกมากที่สุด และใน 55 อันดับแรกของประเทศที่มีระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลกนั้นประกอบไปด้วยประเทศจากทุกภูมิภาค

โดยระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก สูงขึ้น 4 อันดับจากปีก่อน และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับ 14

มาเลเซียยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีอัตราการเติบโตของระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศสูงที่สุดจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2001 จนถึง 2021 ส่วนอันดับแรกคือประเทศแอลเบเนีย ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและการบูรณาการระดับภูมิภาค รวมถึงมีการเข้าร่วมเขตการค้าเสรียุโรปกลางเมื่อปี 2007 และการสรุปข้อตกลง Stabilization and Association Agreement กับ EU ในปี 2009

เกี่ยวกับดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศโดยดีเอชแอล

ผลการสำรวจดัชนีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ หรือ DHL Global connectedness Index มีการจัดทำและเผยแพร่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2011 รายงานนี้เป็นการผลการวัดความเป็นโลกาภิวัตน์ที่เชื่อถือได้โดยการวิเคราะห์กระแสการค้าระหว่างประเทศ ผู้คน เงินทุน และข่าวสาร รวม 13 ประเภท รายงานประจำปี 2022 นี้ครอบคลุมจุดข้อมูลกว่า 4 ล้านจุดจาก 171 ประเทศ ครอบคลุมถึง 99.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกและ 96% ของประชากรโลก หน้ารวมข้อมูลของทั้ง 171 ประเทศในรายงานฉบับเต็มเป็นข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับรูปแบบและระดับความเป็นโลกาภิวัตน์ของแต่ละประเทศ

รายงานนี้จัดทำขึ้นโดยสตีเวน เอ. อัลต์แมนและแคโรไลน์ อาร์. บาสเตียน จาก New York University Stern School of Business เพื่อดีเอชแอลเท่านั้น