#จัดส่งกับDhl

รวมมาให้แล้ว! วิธีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านออนไลน์ พร้อมวิธีคำนวณภาษีนำเข้า

รวมมาให้แล้ว! วิธีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านออนไลน์ พร้อมวิธีคำนวณภาษีนำเข้า

นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาไทยได้ง่ายกว่าเดิมผ่าน DHL Express ผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ ตอบทุกโจทย์นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเพื่อการค้า นำเข้าเพื่อการผลิตหรืออุตสาหกรรม หรือนำเข้าสินค้า ของใช้เพื่อใช้งานส่วนตัว

ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่คุณสามารถทำรายการได้เองผ่านออนไลน์ กับ DHL Express

1.   คลิก https://www.mydhl.express.dhl เว็บไซต์ของ DHL Express ที่สามารถทำรายการส่งออกและนำเข้าได้ในที่เดียว (แนะนำให้ทำผ่านเดสก์ท็อป)

2.   เลือกประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง ซึ่งหากเป็นการนำเข้า ให้เลือกประเทศปลายทางเป็นประเทศไทย

3.   กรอกรายละเอียดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรและอีเมล ของผู้ส่งในประเทศต้นทาง และชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรและอีเมลของผู้รับในประเทศไทย (ผู้นำเข้า) โดยกรอกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

สำคัญ! โปรดตรวจสอบข้อมูลที่กรอกให้ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลการจัดส่งทั้งหมดจะถูกอัปเดตผ่านอีเมลและ SMS ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้มา และเจ้าหน้าที่จะเข้ารับของและส่งของตามที่อยู่ที่กรอกลงไปในขั้นตอนนี้

4.   กรอกรายละเอียดของที่จะนำเข้าว่าเป็นเอกสารหรือพัสดุ วัตถุประสงค์ของการนำเข้า และรายละเอียดของสินค้า ได้แก่ จำนวน มูลค่าสินค้าพร้อมสกุลเงิน น้ำหนัก ประเทศที่ผลิตสินค้า

5.   กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ว่ามีทั้งหมดกี่กล่อง น้ำหนักเท่าไหร่ ขนาดเท่าไหร่ (กว้าง ยาว สูง)

6.   เลือกวันที่ต้องการจัดส่ง และชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต

7.   เมื่อชำระเงินแล้ว คุณจะได้รับหมายเลข waybill สำหรับติดตามสถานะการจัดส่ง

8.   สามารถพิมพ์หรือดาวน์โหลดเอกสาร รวมถึงแชร์เอกสารไปยังผู้ส่งที่ประเทศต้นทางเพื่อพิมพ์แนบพร้อมกับการจัดส่ง

9.   หลังจากนั้น ผู้ส่งที่ประเทศต้นทางจะได้รับลิงค์จาก DHL Express เพื่อให้ยืนยันวันที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับของ ยืนยันที่อยู่ รายละเอียดสินค้า ขนาดของกล่อง

10.            เมื่อได้รับการยืนยันจากผู้ส่งที่ประเทศต้นทาง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับของเพื่อเตรียมขนส่งและนำเข้ามาในประเทศไทยต่อไป

สิ่งของที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย

ก่อนจะนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ควรตรวจสอบก่อนว่ามีข้อห้ามอะไรหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าสินค้าบางอย่างอาจมีจำหน่ายหรือใช้ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่อาจเข้าข่ายเป็นสินค้าที่ไม่สามารถนำเข้ามาในประเทศไทยได้ หรือเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ตัวอย่าง ของต้องห้าม (Prohibited items) ได้แก่

  • เงินสด รวมถึงธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
  • ทองคำแท่ง
  • สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมของอนุสัญญาไซเตส
  • งาช้าง
  • สิ่งผิดกฎหมายทุกชนิด ได้แก่ ยาเสพติด ของลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา วัตถุหรือสื่อลามก
  • บุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่

อะไรคือ “ของต้องกำกัด”

ของต้องกำกัด คือของที่สามารถนำเข้ามาในไทยได้ แต่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ จึงต้องมีใบอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือต้องมีใบรับรองถึงการปฏิบัติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับและเงื่อนไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ก่อนที่จะนำเข้าหรือส่งออกจะต้องนำหลักฐานใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ นั้นมาแสดงในขณะดำเนินพิธีการศุลกากรด้วย

ตัวอย่างของต้องกำกัดในการนำเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่

  • พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมศิลปากร)
  • อาวุธปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
  • พืชและส่วนต่างๆของพืช (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมวิชาการเกษตร)
  • สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมปศุสัตว์)
  • สัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่า (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
  • อาหาร ยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
  • ชิ้นส่วนยานพาหนะ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กระทรวงอุตสาหกรรม)
  • บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ กรมสรรพสามิต)
  • เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม (หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)
  • ของเล่น ต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

นำเข้าสินค้าเข้าไทยเป็นครั้งแรก ต้องลงทะเบียนผู้นำเข้ากับกรมศุลกากรก่อน

รู้ยัง! กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบออนไลน์ใหม่ชื่อว่า Customs Trader Portal สำหรับผู้นำเข้าเป็นครั้งแรก ให้ลงทะเบียนและเลือกตัวแทนออกของ (เช่น DHL Express) ได้ง่ายดายยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยผู้นำเข้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเองที่จุดบริการศุลกากรหรือฝากตัวแทนนำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงที่จุดบริการศุลกากรอีกต่อไป

การลงทะเบียนผู้นำเข้ากับศุลกากรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แนะนำให้ผู้นำเข้าลงทะเบียน Customs Trader Portal ล่วงหน้า เพื่อให้การนำเข้าเป็นไปอย่างสะดวก ไม่ล่าช้า โดยระบบลงทะเบียนของกรมศุลกากรนี้เปิดให้บริการระยะแรกสำหรับผู้ลงทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนกับกรมศุลกากรเท่านั้น

คลิกลงทะเบียน ที่นี่ แล้วยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้เอทีเอ็มและแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ดูรายละเอียดขั้นตอนการลงทะเบียนแบบเข้าใจง่าย พาทำทีละขั้นตอน คลิก

วิธีการคำนวณภาษีอากรนำเข้าสินค้า

ไม่ว่าคุณจะนำเข้าสินค้าหรือของใช้ส่วนตัว ชิปเมนต์นั้นจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรขาเข้าเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย ต้องมีการสำแดงต่อศุลกากรโดยพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ เช่น ประเทศต้นทาง มูลค่าและปริมาณ หากเป็นชิปเมนต์ที่จะต้องเสียอากร ผู้รับจะต้องชำระภาษี (ภาษีศุลกากรหรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บสำหรับสินค้าเมื่อขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ)

การเรียกเก็บอากรขาเข้า เป็นไปตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 โดยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ถ้าสินค้ามีมูลค่า CIF รวมกันมากกว่า 1,500 บาท หรือเป็นสินค้าต้องกำกัด จะต้องเสียอากรขาเข้า

ราคา CIF คือ

  • Cost : ราคาสินค้า ดูได้จาก Commercial Invoice
  • Insurance : ค่าประกันภัย 1% ของราคาสินค้า
  • Freight : ค่าขนส่งระหว่างประเทศ

ให้เอาทั้ง 3 ตัวมารวมกันก็จะได้ราคา CIF = ( Cost + Insurance + Freight )

วิธีการคำนวณ

  • (ค่าสินค้า + ประกันภัย + ค่าขนส่งระหว่างประเทศ ) = CIF
  • ราคา CIF x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
  • (ราคา CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ

โดยอัตราภาษีที่ต้องชำระสำหรับสินค้าแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับพิกัดอัตราศุลกากร หรือ Harmonized System code ซึ่งถูกตั้งขึ้นและดูแลโดยองค์การศุลกากรโลก เช่น รองเท้ากีฬาใช้สำหรับวิ่ง จัดเข้าประเภทพิกัด 6402.19.90 มีอัตราอากร 30%, นาฬิกาข้อมือ จัดเข้าประเภทพิกัด 9102.11.00 มีอัตราอากร 5% เป็นต้น สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร หัวข้อ "ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากร"

วิธีชำระภาษีนำเข้า

หากผู้นำเข้าใช้บริการนำเข้า กับผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศอย่าง DHL Express จะได้รับความสะดวกสูงสุดเพราะ DHL Express เป็นผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศที่ได้ทำการลงทะเบียนและได้รับการอนุญาตให้ดำเนินพิธีการศุลกากรที่ถูกต้องแทนผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกแล้ว

โดย DHL Express จะชำระอากรให้ล่วงหน้าในนามของลูกค้าเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้สินค้าส่งถึงมือผู้รับได้เร็วขึ้น และจะเรียกเก็บเงินจากผู้รับในขั้นตอนการส่งสินค้า (door to door service) พร้อมค่าธรรมเนียมสำรองจ่ายภาษี (Disbursements) สำหรับชิปเมนต์นั้น และ DHL Express มีบริการที่เรียกว่า Advance Duty Collection (ADC) เพื่อส่งข้อความแจ้งยอดภาษีนำเข้าที่่ต้องชำระผ่าน SMS หรืออีเมล ซึ่งผู้รับสามารถคลิกลิงค์ในอีเมลหรือ SMS เพื่อจ่ายผ่านระบบออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต หรือนำเงินสดมาชำระกับเจ้าหน้าที่คูเรียร์ที่จัดส่งก็ได้

แต่ถ้าไม่ได้ชำระภาษีอากร เจ้าหน้าที่คูเรียร์จะไม่สามารถนำส่งสินค้าได้ โดยสินค้าจะถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าของ DHL Express และจะเตรียมนำส่งเมื่อมีการชำระภาษีแล้ว ทั้งนี้ จะมีค่าธรรมเนียมในการเก็บสินค้าที่คลังสินค้าด้วย

ให้ DHL Express นำเข้าสินค้าให้คุณ

สะดวกกว่าเดิม! ด้วยบริการนำเข้าสินค้าด่วนจาก 200 ประเทศทั่วโลกเข้ามายังประเทศไทย พร้อมดำเนินพิธีการศุลกากรและจัดส่งถึงมือ โดยที่ผู้รับ (ในประเทศไทย) สามารถทำรายการนำเข้าได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ พร้อมชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต แล้วปล่อยให้เรื่องการขนส่งระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของเรา 

รับชมวิดีโอสาธิตการทำรายการนำเข้าโดยละเอียดทุกขั้นตอนได้ ที่นี่